งานเทศกาลชิมชาบ้านรักไท จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณหมู่บ้านรักไท หมู่ 6 ตำบลหมอกจำแป๋ อำเภอเมือง หมู่บ้านรักไทเป็นหมู่บ้านชายแดน อยู่ในความควบคุมของกองทัพภาคที่ 3 ราษฏรมีอาชีพปลูกชาเป็นหลักมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเดินทางขึ้นไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก การจัดงานเทศกาลชิมชานี้เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกชาและส่งเสริมการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน ภายในงานมีการขี่ม้ารอบหมู่บ้านเที่ยวชมธรรมชาติ ชิมชาชั้นดี ชมการแสดงจากชาวจีนยูนาน และการละเล่นพื้นบ้าน งานเมืองสามหมอก จัดขึ้นทุกปีระหว่างวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ มีการออกร้านจากหน่วยงานราชการ เอกชนและองค์กรต่างๆ เพื่อเผยแพร่ผลงานของแต่ละหน่วยงานรวมทั้งการแสดงมหรสพรื่นเริง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับความเพลิดเพลินกับกิจกรรมต่างๆ ในงานหลังจากที่ได้ตรากตรำกับการทำงานมาตลอดปี นอกจากนี้ ในงานยังจัดให้มีการแสดงของชาวเขาเผ่าต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อให้งานมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น งานเทศกาลดอกบัวตอง จัดขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี“ดอกบัวตอง” เป็นดอกไม้ป่าสีเหลืองคล้ายดอกทานตะวันแต่ขนาดเล็กกว่ามักขึ้นอยู่ตามป่าเขา สูงทางตอนเหนือของประเทศไทยในจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะมีมากที่บริเวณบ้านแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง และดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม เมื่อถึงระยะที่ดอกบัวตองบานตามริมเส้นทางตลอดจนภูเขาที่สลับซับซ้อนกันอยู่ นั้นจะเป็นสีเหลืองสว่างไสวไปด้วยสีของดอกบัวตองดูงดงามมาก จังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงได้จัดงานเทศกาลบัวตองบานขึ้นเพื่อเป็นการชมความงามของ ธรรมชาติ และชมวัฒนธรรมประเพณีของชาวไต และชาวไทยภูเขา โดยจะจัดที่บริเวณอำเภอขุนยวมในงานมีการละเล่นและมหรสพทั้งของพื้นเมืองและ ร่วมสมัยมีการประกวดธิดาบัวตอง การแสดงศิลปวัฒนธรรมชาวไทยภูเขา การแสดงสินค้าพื้นเมือง การแข่งขันกีฬาชาวดอย ฯลฯ ตลอดจนนิทรรศการต่างๆ และการนำเที่ยวชมดอกบัวตองบนดอยแม่อูคอ ประเพณีลอยกระทง หรืองานเหลินสิบสอง จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสอง โดยชาวบ้านจะจัดทำกระทงเล็กๆ ไปลอยตามแม่น้ำ มีการประกวดกระทงใหญ่ที่หนองจองคำ ซึ่งเป็นหนองน้ำสาธารณะกลางเมือง มีการแสดงมหรสพรื่นเริง ตามบ้านเรือนจะมีการจุดประทีปโคมไฟสว่างไสว นอกจากนี้ยังมีการลอยกระทงสวรรค์ โดยนำกระทงที่จุดประทีปโคมไฟแล้วผูกติดกับลูกโป่งลอยขึ้นไปในอากาศ พิธีนี้จัดขึ้นที่วัดพระธาตุดอยกองมู นอกจากนี้ ยังมีศิลปะที่น่าสนใจของชาวไตคือศิลปะการแสดงและดนตรีซึ่งแตกต่างจากของล้านนา และมักจะนำเข้ามาร่วมในงานบุญงานแห่ต่างๆ อยู่เสมอ อาทิ “ฟ้อนกิงกะหล่า” หรือฟ้อนกินรี ซึ่งได้รับความนิยมที่สุด ผู้แสดงจะใส่ปีกใส่หางบินร่ายรำ นอกจากนี้ยังมีการฟ้อนตัวสัตว์ต่างๆ ที่มีความเชื่อว่าอาศัยอยู่ที่ป่าหิมพานต์ เช่น ฟ้อนนก ฟ้อนผีเสื้อ ฟ้อนม้า เป็นต้น “ฟ้อนโต” เป็นการแสดงที่นิยมกันอีกชุดหนึ่ง ตัวโตนั้นเชื่อกันว่าเป็นสัตว์ป่าในหิมพานต์ชนิดหนึ่ง มีเขาคล้ายกวางและมีขนยาวคล้ายจามรี มีลักษณะร่ายรำคล้ายการเชิดสิงโตของจีน นอกจากนี้ ยังมีการแสดงอื่นๆ อีกหลายชุด ได้แก่ “ฟ้อนดาบ” หรือที่เรียกว่า ฟ้อนก้าแลว “ฟ้อนไต” เป็นการฟ้อนต้อนรับผู้มาเยือน รำหม่อง “ส่วยยี” เป็นการรำออกท่าทางคล้ายพม่า และ “มองเซิง” เป็นการรำประกอบเสียงกลองมองเซิง ประเพณีสิบสองมนล่องผ่องไต ประเพณีลอยกระทงไทยใหญ่ เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไตซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีคติความเชื่อว่าเป็นการจัดขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา และบูชาพระอุปคุต 8 องค์ หรือพระอรหันต์ตามความเชื่อของชาวไตโบราณ ซึ่งเชื่อว่าพระอรหันต์ทั้ง 8 องค์นี้ มี 4 องค์ที่มรณภาพแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 4 องค์ยังคงปฏิบัติธรรมอยู่ในกลางมหานพ และทุกวันเพ็ญเดือน 12 พระอรหันต์ทั้ง 4 จะเวียนขึ้นมาโปรดสัตว์และเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยชาวไตจะถวายอัฐบริขารต่างๆอันเป็นประเพณีสืบต่อจากประเพณีจองพาราซึ่งทำถวายพระพุทธเจ้า โดยจะบูชาพระอุปคุตและลอยสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆลงในลำน้ำเพื่อเป็นการให้ทานและถวายเป็นพุทธบูชา |